เครือข่ายพลังงานขยับพึ่งตนเอง สร้าง “นักข่าวพลเมือง” ลุย “นิวมีเดีย”
23 มิ.ย.51 ที่อุทยานการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พัทยา) สำนักข่าวประชาไท ร่วมกับสำนักบัณฑิตอาสาสมัครเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักข่าวประชาธรรม จัดค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการนักข่าวพลเมือง ครั้งที่ 1 (ด้านพลังงาน) ระหว่างวันที่ 23-26 มิ.ย.โดยมีผู้เข้าร่วมจากเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดต่างๆ กว่า 20 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนข่าวและการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ปัญหาผลกระทบจากแผนพัฒนาพลังงาน โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถสร้างพื้นที่เองได้อย่างหลากหลาย
ในวันแรกของการอบรม สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ จากกลุ่มรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงภาพรวมของปัญหาด้านพลังงานเรื่อง “จิ๊กซอว์พลังงานไทย“ ว่า นโยบายด้านพลังงานถูกกำหนดโดยผู้เล่นหลักจากฝ่ายรัฐและเอกชน โดยยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างสำคัญ ส่วนใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นไปในเชิงรับ โดยเฉพาะผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุดนั้นก็ขาดการมีส่วนร่วม มุ่งแต่ “ใช้“ พลังงานเพียงอย่างเดียว
สุกรานต์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โครงการพลังงานโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า นโยบายที่วางไว้มักให้เหตุผลว่าเพื่อรองรับการพัฒนา แต่พบว่าหลายกรณีโครงการพลังงานมีบทบาทในการกระตุ้นการพัฒนามากกว่า ดังนั้น ชุมชนจึงไม่ได้สู้กับโรงไฟฟ้าเท่านั้นแต่สู้กับ “การพัฒนา“ ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแผนพัฒนาขนาดใหญ่จะถูกใช้เป็น “หัวรถจักร“ นอกเหนือจากนั้น โครงการพัฒนายังมีเป้าหมายในตัวเองด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เบื้องหลังจึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีโรงไฟฟ้าโผล่มาทั้งที่ไม่อยู่ในแผน ขณะเดียวกันแผนต่างๆ ก็มีการปรับ ผนวกกันเป็นแผนใหม่ๆ ตลอดเวลาล่าสุดมีการขยายปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่มาบตาพุด พื้นที่ใกล้เคียงและมุ่งขยายสู่ภาคใต้ตอนบน แผนฮับพลังงานสมัยรัฐบาลทักษิณขณะนี้ก็ถูกรวมมาเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันตก มีอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหลักเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพลังงาน
สุกรานต์ยังกล่าวโยงถึงเป้าหมายของนักข่าวพลเมืองด้านพลังงานว่า การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่อยู่บนฐานที่ว่า ทำอย่างไรพื้นที่ต่างๆ จะไม่ถูกกระทำมากมาย ขณะที่ผู้บริโภคไม่รู้สึกอะไรด้วยเลย โดยอุปสรรคหนึ่งของประเด็นด้านพลังงานคือ ที่ผ่านมาถูกทำให้เป็นเรื่องเทคนิคที่ซับซ้อน ซึ่งในความเป็นจริงไม่จำเป็นต้องรู้ เรื่องเทคนิคอย่างมากมายก็ได้ แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่เพียงพอเช่นกันที่จะบอกว่า “อย่าเป็นบ้านฉัน“ เพราะไม่ว่าที่ไหน การลงทุนก็พร้อมจะไป ถ้ามีปัจจัยการลงทุนเอื้ออำนวย
“ชาวบ้านสู้เองก็คงจะไม่ไหว ต้องทำงานสื่อสารเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นอะไรมากขึ้น และเห็นจนระดับที่รู้สึกกับมันมากขึ้น” สุกรานต์กล่าว
แสงจันทร์ สีดำ นักข่าวอาวุโสโต๊ะเฉพาะกิจจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน กล่าวในรายการอภิปรายเรื่อง “บทบาทของสื่อต่องานพัฒนา” โดยเริ่มต้นอธิบายโครงสร้างของสื่อหนังสือพิมพ์ว่า อย่าหลงว่าหนังสือพิมพ์คือสื่อของมวลชนที่ยึดประโยชน์ประชาชนอย่างสมบูรณ์ เพราะสื่อก็คือกิจการของนักธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่วิธีนำเสนอข่าว การเลือกประเด็นข่าวจึงคิดเสมือนสินค้าว่าจะขายได้หรือไม่ ประกอบกับจริตของสื่อสำนักนั้นๆ รวมไปถึงสปอนเซอร์ ซึ่งข่าวชาวบ้านประเด็นพลังงานที่ต่อสู้กับกลุ่มทุนพลังงานนั้นจะประสบความยากลำบากตรงที่กลุ่มธุรกิจพลังงานนั้นเป็นสปอนเซอร์หลักของสื่อกระแสหลัก และเริ่มมีโครงการรณรงค์ร่วมต่างๆ กับสื่อสำนักใหญ่ เช่น เรื่องโลกร้อน
แสงจันทร์ สีดำ อภิปรายต่อว่า จึงไม่แปลกที่สื่อทุกสำนักมักเคยเจอคำสั่งจากบรรณาธิการที่คอยบอกให้เสนอหรือไม่เสนอประเด็นอะไร เมื่อประเมินแล้วพื้นที่ของข่าวภาคประชาชนแทบจะไม่มีหวังในกระบวนการทำงานปกติของสื่อกระแสหลัก ที่แบ่งเป็นสายต่างๆ และทำงานฉาบฉวย นักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการบ้านเพียงพอ และยังไม่นับวัฒนธรรมการลอกข่าวกัน นอกจากนั้น การมีพื้นที่ข่าว จะมีมากเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น หรือไม่ก็ต้องขึ้นกับนโยบายของบางสำนักว่าจะเน้นให้มีโต๊ะเฉพาะกิจเพื่อติดตามประเด็นต่างๆ อย่างเจาะลึกและติดตามไปจนถึงประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แสงจันทร์ สีดำ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ขบวนการประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสร้างนักข่าวพลเมืองขึ้นมาว่า มีความก้าวหน้าไปมากทั้งการทำข้อมูล การรณรงค์และการให้ข่าวกับนักข่าวในการจับประเด็นสำคัญ แต่ก็ต้องระมัดระวังในการให้ข้อมูลกับนักข่าวเกี่ยวกับการพาดพิงถึงบุคคลที่สาม เพราะนักข่าวอาจนำไปเขียนข่าวซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการถูกฟ้องร้องได้
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มจับตาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ วอทช์) ได้ถอดบทเรียนและประสบการณ์ทำงานกับสื่อมวลชนในการผลักดันประเด็นเอฟทีเอ และการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) จนกระทั่งกลายเป็นวาระของสังคมว่า จากการทำวิทยานิพนธ์วิเคราะห์สื่อในบริบทต่างๆ ทำให้เห็นว่าสื่อมวลชนมีลักษณะการทำงานและวิธีคิดต่อข่าวภาคประชาชนอย่างไร เช่น นักข่าวส่วนใหญ่มีพื้นฐานความคิดแบบคนชั้นกลางในเมือง ไม่รู้เรื่องคนจน ห่างไกลจากความเดือดร้อนของคนจน ชุมชน, เนื้อหาความเดือดร้อนไม่ค่อยนำเสนอ มักเสนอเป็นภาพการปะทะกัน, อคติกับแหล่งข่าว เชื่อในแหล่งข่าวที่มีความรู้ มีคุณวุฒิ มากกว่าชาวบ้าน, มีแนวโน้มเข้าข้างรัฐบาล อำนาจรัฐมากกว่า เพราะอยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจ นักข่าวส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจ นักข่าวไม่เคยกลัวตำรวจ ไม่เคยกลัวอำนาจรัฐ
ส่วนการขับเคลื่อนประเด็นเอฟทีเอซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากและค่อนข้างซับซ้อนนั้น เอ็นจีโอและนักวิชาการเองก็ต้องทำการศึกษาอย่างหนักเพื่อให้รู้อย่างถ่องแท้ และทำการย่อยให้ง่ายเวลาที่ต้องการสื่อสารออกสู่สาธารณะ ซึ่งอาจต้องมีการจัดวงทำความเข้าใจเฉพาะกับนักข่าวที่ติดตามประเด็นนี้ นอกจากนี้เอฟทีเอวอทช์ยังมีความไวต่อสถานการณ์สามารถตอบโต้การเคลื่อนไหวกับภาครัฐได้อย่างทันท่วงที มีข้อมูลหนักแน่น มีฐานงานวิจัยรองรับ และเล่นกับกระแสข่าวได้เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นเพราะองค์ประกอบของคนทำงานซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักวิจัย นักยุทธศษสตร์ นักการสื่อสาร
กรรณิการ์ยังระบุถึงเทคนิควิธีการทำงานว่า เริ่มตั้งแต่การสะสมรายชื่อ เบอร์ติดต่อนักข่าว คอลัมนิสต์ และการเขียนข่าวเองเพื่อส่งให้นักข่าว โดยต้องศึกษาวิธีการสื่อสารของสื่อมวลชนกระแสหลัก ศึกษาว่าแต่ละสำนักมีสไตล์เช่นไร เน้นเรื่องใด อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนั้นทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งกรรณิการ์ยกตัวอย่างรูปแบบ เช่น การนำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านการวิจารณ์ภาพยนตร์ หรือตัวอย่างของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคุณย่า คุณยายในเมืองพอร์ต เคมบลา ประเทศออสเตรเลียที่ออกมาค้านโรงหลอมทองแดง โดยลุกขึ้นมาเขียนจดหมายร้องเรียน หัดใช้คอมพิวเตอร์ วีดิโอ เขียนข่าว เขียนบทความ ให้สัมภาษณ์นักข่าว จนทำให้คนทั่วออสเตรเลียสนใจเรื่องราวความเดือดร้อนของพวกเขา บางคนถึงขั้นไปลงเรียนนิติศาสตร์เพื่อใช้ในการขึ้นศาล
“ถ้าหันกลับไปดูก็พบว่า มันมีการนำเสนอเรื่องราวความเดือดร้อนในแง่มุมต่างๆ ด่าตรงๆ โวยวาย ร้องแรกแหกกระเฌอ เสียดสี ประชดประชัน หรือเปรียบเทียบด้วยข้อมูลต่างๆ บนโลกใบนี้ เพื่อดึงคนที่อาจไม่ได้เห็นตรงกันให้เข้าใจเรื่องราวของเรามากขึ้น” กรรณิการ์กล่าว
ด้าน วัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือก และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งทำงานกับประชาชนในพื้นที่ปัญหาต่างๆ หลายพื้นที่กล่าวถึงประสบการณ์ว่า การทำงานกับนักข่าวนั้นต้องให้ข้อมูลกับนักข่าวซ้ำซาก อาทิ เวลาไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ ให้สัมภาษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่มีนักข่าววิทยุสนใจเขาก็จะขอให้พูดใหม่ตั้งแต่ต้น หรือในสื่อฉบับเดียวกัน แต่อยู่นักข่าวคนละโต๊ะข่าว เช่น สิ่งแวดล้อม การเมือง คุณภาพชีวิต ก็ต้องให้ข้อมูลเดิมกับทุกโต๊ะเพราะนักข่าวไม่มีการส่งต่อข้อมูลกัน
วัชรี กล่าวว่า การทำงานรณรงค์ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องจากกระแสเล็กไปใหญ่ ให้มีคนรู้จักในวงกว้างขึ้นเพื่อคานอำนาจกับการอนุมัติโครงการ เปลี่ยนจากฝ่ายตั้งรับเป็นฝ่ายยัน โดยสื่อจะเป็นสะพานช่วยให้เรื่องของพื้นที่ได้รับการยอมรับ สนับสนุน หรือได้รับความเห็นใจจากคนนอกชุมชน ทั้งนี้ การทำงานกับสื่อไม่ใช่แค่ตอบคำถาม หรือให้ข้อมูล แต่ต้องเข้าไปสร้างพื้นที่ เช่น ติดต่อสื่อเอง ส่งข้อมูลให้รายการโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การล็อบบี้ใต้สถานการณ์ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่นไม่มีการชุมนุม ไม่มีกระแสการเคลื่อนไหว การต่อกับนักข่าวจะยากลำบาก ทำให้โครงการต่างๆ คืบหน้าไปอีก จึงต้องมีการทำงานต่อเนื่อง เช่น หาประเด็นส่งให้สื่อ ชวนลงพื้นที่ สัมภาษณ์ชาวบ้าน
ส่วนนักข่าวท้องถิ่นที่ผ่านมา แทบไม่รายงานข่าวจากชุมชนเลย เพราะต้องเน้นติดตามข่าวจากหน่วยราชการหรือเจ้าของโครงการเป็นหลัก ขณะที่ข่าวในส่วนของชุมชนได้สัดส่วนข่าวเพียงสองบรรทัด นอกจากบางพื้นที่ที่มีกระแสเคลื่อนไหวของมวลชนค่อนข้างใหญ่ นักข่าวในพื้นที่จึงให้ความสำคัญมากขึ้น
ทั้งนี้ เครือข่ายที่เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย อาสามัครโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต (ลุ่มน้ำสาละวิน), เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก, ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน สหกรณ์การเกษตรปากมูน จ.อุบล, องค์กรพัฒนาเอกชนสมาคมรักษ์ทะเลไทย, เครือข่ายแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง, เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำปิงตอนบน สาขาน้ำแตงบน,กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม,โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา จ.ตรัง, โครงการดับบ้านดับเมืองเรียนรู้อยู่ดีทีปากใต้ จ.สงขลา, เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม จ.สระบุรี, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน, สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย, เครือข่ายชุมชนรักษ์ลุ่มน้ำนครนายก, เครือข่ายมูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์